

doraemon
คำสมาส
ความหมายของคำสมาส
คำสมาส คือ การสร้างคำขึ้นใหม่โดยการนำคำมูลบาลีหรือสันสกฤตตั้งแต่สองคำขึ้นไปซึ่งมี ความหมายต่างกันมาเรียงต่อกันแล้วเกิดคำใหม่และมีความหมายใหม่ เวลาอ่านก็อ่านเพิ่มพยางค์สุดท้ายของคำแรกและแปลจากหลังไปหน้า เช่น
ประวัติ(ส) + ศาสตร์(ส.) = ประวัติศาสตร์ (ประ -หวัด - ติ - สาด) แปลว่า วิชาว่าด้วยเรื่องเก่าแก่
วิธีสังเกตคำสมาส
๑. คำที่นำมาสมาสกันต้องเป็นคำบาลีหรือสันสกฤตเท่านั้น เช่น
มูล ( บ. ) + นิธิ ( บ. ) = มูลนิธิ
วรรษ ( ส. ) + ฤดู ( ส. ) = วรรษฤดู
หัตถ ( บ. ) + ศึกษา ( ส. ) = หัตถศึกษา
วิทย (ส.) + ฐานะ (บ.) = วิทยฐานะ
๒ การแปลความหมายแปลจากข้างหลังมาข้างหน้า เช่น
อุทก (น้ำ) + ภัย (อันตราย) = อุทกภัย (ภัยอันตรายจากทางน้ำ)
รัตติ (กลางคืน) + กาล (เวลา) = รัตติกาล (เวลากลางคืน)
๓. การอ่านออกเสียงต้องอ่านออกเสียงต่อเนื่องหรืออ่านออกเสียงเพิ่มพยางค์สุดท้าย ของคำหน้า เช่น
พฤติ + กรรม = พฤติกรรม (พฺรึด - ติ - กำ)
กาย + ภาพ = กายภาพ (กาย - ยะ - พาบ)
๔. ถ้าพยางค์ท้ายของคำหน้ามีวิสรรชนีย์ หรือ ทัณฑฆาต เมื่อเข้าสมาสแล้วต้องตัดวิสรรชนีย์ หรือทัณฑฆาตออก เช่น
ธุระ + กิจ = ธุรกิจ
มนุษย์ + ธรรม = มนุษยธรรม
๕. คำราชาศัพท์ที่มีคำว่า”พระ”นำหน้าคำมูลบาลีหรือสันสกฤต จัดว่าเป็นคำสมาส เช่น
พระ + พักตร์ (ส.) = พระพักตร์
พระ + บิดา (บ.) = พระบิดา
๖. คำบาลีหรือสันสกฤตที่มีคำว่า “ ศาสตร์ กรรม ภาพ ภัย ศิลป์ ศึกษา สถาน ธรรม กร วิทยา” ต่อท้ายถือว่าเป็นคำสมาส เช่น
จิตศาสตร์ โจรกรรม ภราดรภาพ อัคคีภัย นาฏศิลป์ อาชีวศึกษา เทวสถาน นิติกร วัฒนธรรม จิตวิทยา
ข้อสังเกต
๑ มีคำสมาสบางคำไม่อ่านออกเสียงพยางค์สุดท้ายของคำหน้าแต่อ่านตามความหมายเช่น ชลบุรี (ชน - บุ - รี)
สุพรรณบุรี (สุ - พัน - บุ -รี)
สมุทรปราการ (สะ - หฺมุด - ปฺรา - กาน) ฯลฯ
๒. มีคำสมาสบางคำที่เป็นคำหลักทั้งสองคำ จะแปลจากหน้าไปหลังหรือจากหลังไปหน้าก็ได้ แต่เวลาอ่านจะต้องอ่านออกเสียงต่อเนื่องกัน เช่น
บุตร + ภรรยา = บุตรภรรยา (บุด - ตฺระ - พัน - ระ - ยา)
สมณ + พราหมณ์ = สมณพราหมณ์ (สะ - มะ - นะ - พฺราม)
ยกเว้น ประธานสภา ผลบุญ ประวัติบุคคล ประวัติชีวิต ราชวัง ผลไม้ พระสาง พระเขนย
วิธีอ่านคำสมาส
๑. ถ้าพยางค์สุดท้ายของคำหน้าเป็นเสียง “อะ” ให้ออกเสียง “อะ” กึ่งเสียง เช่น
โบราณ + คดี = โบราณคดี (โบ - ราน - นะ - คะ- ดี)
สัตว + แพทย์ = สัตวแพทย์ (สัด - ตะ -วะ - แพด)
คุณ + วุฒิ = คุณวุฒิ (คุน – นะ – วุด – ทิ)
๒. ถ้าพยางค์สุดท้ายของคำหน้าเป็นเสียง “อิ” ให้ออกเสียง “อิ” เช่น
ภูมิ + ภาค = ภูมิภาค (พู - มิ - พาก)
เกียรติ + คุณ = เกียรติคุณ (เกียด – ติ – คุน)
อุบัติ + เหตุ = อุบัติเหตุ (อุ – บัด – ติ – เหด)
ยกเว้น ชาติ + นิยม = ชาตินิยม (ชาด - นิ - ยม)
๓. ถ้าพยางค์สุดท้ายของคำหน้าเป็นเสียง “อุ” ให้อ่านออกเสียง “อุ” เช่น
เกตุ + มาลา = เกตุมาลา (เกด - ตุ - มา -ลา)
ธาตุ + สถูป = ธาตุสถูป (ทาด - ตุ - สะ -ถูบ)
๔. ถ้าพยางค์สุดท้ายของตัวหน้าเป็นตัวควบกล้ำ ให้อ่านออกเสียงควบกล้ำด้วย เช่น
เกษตร + กรรม = เกษตรกรรม (กะ - เสด - ตฺระ - กำ)
มิตร + ภาพ = มิตรภาพ (มิด - ตฺระ - พาบ)
๕. คำว่า “บรม ราช” เป็นคำสมาสต้องอ่านออกเสียง “-มะ- , -ชะ-” เช่น
พระราชกรณียกิจ อ่านว่า พฺระ - ราด - ชะ - กะ - ระ - นี - ยะ - กิด
พระบรมราชูปถัมภ์ อ่านว่า พฺระ - บอ - รม - มะ - รา - ชู - ปะ - ถำ
คำสมาสและคำประสมมีความแตกต่าง ดังนี้
คำสมาส
๑. ที่มาของคำเกิดจากการนำคำบาลีหรือสันสกฤตมาประกอบกันเท่านั้น เช่น
ราชบิดา - ราช (บ.) + บิดา (บ.)
จันทรคราส - จันทร์ (ส.) + คราส (ส.)
กายกรรม - กาย (บ.) + กรรม (ส.)
กรรมฐาน - กรรม (ส.) + ฐาน (บ.
๒. การเรียงลำดับคำและการแปลความหมายของคำ
คำหลักไว้หลังคำขยายไว้หน้าและแปลจากข้างหลังไปข้างหน้า เช่น
พาณิชย์ + การ = พาณิชยการ(งานการค้า)
สภา + นายก = สภานายก(หัวหน้าในที่ประชุม)
ผลิต + ผล = ผลิตผล(ผลที่ทำขึ้น)
(แปลจากหลังไปหน้า)
๓. การเขียนตัวสะกด คำสมาสไม่ประวิสรรชนีย์ หรือไม่มีเครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับตรงพยางค์สุดท้ายของคำหน้า เช่น
เคหะ + ศาสตร์ = เคหศาสตร์
กิจจะ + กรรม = กิจกรรม
รัตนะ + ตรัย = รัตนตรัย
พันธุ์ + กรรม = พันธุกรรม
สัตว์ + แพทย์ = สัตวแพทย์
๔. การอ่านออกเสียง ส่วนมากอ่านออกเสียงสระตรงพยางค์ท้ายของคำหน้า เช่น
เกียรติประวัติ อ่าน เกียด – ติ – ปฺระ – หฺวัด
ภูมิศาสตร์ อ่าน พู – มิ - สาด
คำประสม
๑. ที่มาของคำเกิดจากการนำคำที่มาจากภาษาใดก็ได้มาประกอบกัน เช่น
แม่เหล็ก - แม่ (ท.) + เหล็ก (ท.)
ฉลองได - ฉลอง (ข.) + ได (ข.)
พระสลา - พระ (ส.) + สลา (ข.)
รับเสด็จ - รับ (ท.) + เสด็จ (ข.)
พระโธรน - พระ (ส.) + โธรน (อ.)
พลเรือน - พล (บ.) + เรือน (ท.)
๒. การเรียงลำดับคำและการแปลความหมายของคำ
คำหลักไว้หน้าคำขยายไว้หลังและแปลจากข้างหน้าไปข้างหลัง เช่น
การ + พาณิชย์ = การพาณิชย์ (การค้าขาย)
นายก + สภา = นายกสภา(หัวหน้าในที่ประชุม)
ผล + ผลิต = ผลผลิต(ผลที่ทำขึ้น)
(แปลจากหน้าไปหลัง)
๓. การเขียนตัวสะกด คำประสม
ประวิสรรชนีย์ หรือมีเครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับตรงพยางค์สุดท้ายของคำหน้า เช่น
เคหะ + ชุมชน = เคหะชุมชน
กิจจะ + ลักษณะ = กิจจะลักษณะ
สาระ + บันเทิง = สาระบันเทิง
พันธุ์ + ผสม = พันธุ์ผสม
จันทร์ + เพ็ญ = จันทร์เพ็ญ
๔. การอ่านออกเสียง ส่วนมากไม่อ่านออกเสียงสระตรงพยางค์ท้ายของคำหน้า เช่น
ชาติตระกูล อ่าน ชาด – ตฺระ – กูน
ภูมิลำเนา อ่าน พูม – ลำ - เนา